จากกรณีที่ หมอฟันหนีใช้ทุน ไม่กลับมาใช้หนี้ที่กู้ไปปล่อยให้คนค้ำซวยต้องใช้หนี้แทน ที่เป็นกระแสบนโลกออนไลน์เมื่อก่อนหน้านี้ ล่าสุดทางศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ “หมอฟัน” เบี้ยวชดใช้ทุนศึกษาต่อ ห้ามเจ้าทรัพย์ยุ่งเด็ดขาด

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559 ศาลล้มละลายกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ได้นัดพิจารณาคดีหมายเลขดำ ล.3603/2558 ที่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นโจทก์ที่ 1 และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นโจทก์ที่ 2 ยื่นฟ้อง น.ส.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล ที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ที่สหรัฐฯ เป็นจำเลย

คำฟ้องระบุว่า โจทก์ทั้งสองได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลปกครองให้ชดใช้ทุนที่จำเลยผิดสัญญารับทุนรัฐบาลไปศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2549 ให้จำเลยชดใช้เงินแก่ มหาวิทยาลัยมหิดล โจทก์ที่ 1 จำนวน 2,088,181 บาท และ สกอ.โจทก์ที่ 2 จำนวน 116,431.05 บาท กับอีก 666,131.73 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว

คดีดังกล่าวไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดคดีจึงสิ้นสุดในชั้นศาลปกครองชั้นต้น แต่จำเลยไม่นำเงินมาชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและขอให้พิพากษาจำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย

โดยวันนี้ทนายความของโจทก์ทั้งสองมาศาล ส่วน น.ส.ดลฤดี จำเลย ทราบนัดแล้วไม่มา ศาลจึงมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดพิจารณา ขณะที่ทนายความโจทก์ นำ นายอวยชัย อิสรวิริยะสกุล และ น.ส.ภาแก้ว เบญจเทพรัศมี เข้าเบิกความ และแถลงหมดพยาน

ศาลได้พิจารณาคำเบิกความ และพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองแล้ว ได้ความจริงว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสองในมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลปกครอง จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย จึงมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลยเฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร

ด้าน นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ต่อไปเจ้าของทรัพย์ก็ไม่อาจทำอะไรกับทรัพย์นั้นได้ หากจะดำเนินการใดจะเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมาย ขณะที่เวลานี้ยังไม่ถือว่าจำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 60 , 61 เพราะยังต้องมีขั้นตอนตามกฎหมายอีกที่ศาลจะให้พิจารณา เพื่อมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย