จากกรณีที่มีนักศึกษา 3 คน โกงข้อสอบ ในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ (รอบ 2) ล่าสุด ประธาน ทปอ. ลั่นนักศึกษาทั้ง 3 คนต้องถูกตัดสิทธิ์แอดมิชชั่น 3 ปีและเตรียมประสานศูนย์สอบต่างๆ เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ชนิดอื่นๆ เข้าห้องสอบ ทางด้าน ดร.อาทิตย์ เปิดเผยว่า การโกงข้อสอบครั้งนี้ทำกันเป็นขบวนการโดยสถาบันกวดวิชา และเรียกเงินค่าตอบแทนสูงพร้อมกับรับประกันผลสอบ เบื้องต้นจับผู้เกี่ยวข้องแล้ว 5 คน พร้อมเอาเรื่องให้ถึงที่สุดทั้งทางแพ่งและอาญา เลขาฯ สช.ผยคาดเป็นติวเตอร์เถื่อนเพราะไม่มีในระบบจดทะเบียน ประกาศหากใครรู้เบาะแสให้แจ้งข้อมูลเข้ามาได้

ที่โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยต์ เทอร์มินอล 21 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้แถลงถึงกรณี โกงข้อสอบ คัดเลือกเข้าศึกษาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ (รอบ 2) ซึ่งมีการจัดสอบไปเมื่อวันที่ 7-8 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า การทุจริตและทำเป็นขบวนการโดยใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาก ที่จับได้เพราะผู้เข้าสอบได้ออกจากห้องสอบก่อนเวลา และใส่แว่นตาที่มีลักษณะแปลกๆ ก้านแว่นตามีขนาดใหญ่ หนา และเมื่อตรวจสอบพบว่ามีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีกล้องรูเข็มที่สามารถดูข้อสอบได้อย่างชัดเจน และมีการส่งต่อแว่นตาดังกล่าวให้แก่ผู้ที่จะเข้าสอบอีกคนด้วย แต่กรรมการคุมสอบจับได้ จึงมีการสอบถามและทราบว่าผู้เข้าสอบคนดังกล่าวจะนำข้อสอบที่ถ่ายออกมาส่งต่อไปที่ศูนย์บัญชาการ ซึ่งยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน จากนั้นจะมีการส่งเฉลยข้อสอบกลับมาที่นาฬิกาอัจฉริยะ 3 เครื่องของผู้ที่เข้าสอบ 3 คนที่อยู่ในกระบวนการเดียวกัน เบื้องต้นน่าจะมีผู้เข้าร่วมกระบวนการแน่นอน 5 คน

“การทุจริตครั้งนี้ทำเป็นขบวนการ เพราะมีติวเตอร์ติดประกาศที่มหาวิทยาลัยว่าสามารถติวเข้าคณะแพทย์ ม.รังสิตได้ ถ้าสอบไม่ติด คืนเงิน 800,000 บาท ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นความพิลึกพิลั่น เป็นปัญหาของเราที่ต่อไปอาจต้องให้ผู้เข้าสอบต้องแก้ผ้ามาเข้าสอบ และห้ามใส่แว่นตา ห้ามใช้ปากกาเข้าสอบ ให้ใช้ดินสอ 2B เข้าสอบเท่านั้น”

สำหรับการยกเลิกการสอบครั้งดังกล่าวไปแล้ว อธิการบดี ม.รังสิต กล่าวว่า ได้มีการพิจารณาวันสอบใหม่เป็นวันที่ 31 พ.ค. และ 1 มิ.ย.นี้ แต่วันสอบดังกล่าวไม่ตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ ทำให้ผู้ปกครองร้องเรียนมาว่าไม่สะดวกมารับ-ส่งลูกหลาน ดังนั้นมหาวิทยาลัยคงจะต้องกลับไปพิจารณาใหม่ว่าจะเลื่อนสอบไปวันไหนดี แต่ก็จะดำเนินการให้เร็วที่สุดและทันเปิดภาคเรียนที่ 1/2559 แน่นอน

ส่วนการ โกงข้อสอบ เบื้องต้นทางมหาวิทยาลัยได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด 5 คนแล้ว อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสอบสวนเพื่อหาต้นตอ ว่ามีผู้กระทำผิดอีกมากน้อยแค่ไหน โดยผู้เข้าสอบบางคนสารภาพว่าได้นาฬิกาอัจฉริยะจากสถาบันติวเตอร์แห่งหนึ่ง เสียค่ามัดจำ 50,000 บาท และถ้าสอบติดจ่ายอีก 800,000 บาท คาดว่าการสอบครั้งนี้น่าจะมีผู้ทุจริตจำนวนมาก เพราะถ้าจำนวนน้อยจะทำให้ปฏิบัติการครั้งนี้ไม่คุ้มค่า แต่ทั้งนี้ก็จะต้องดูหลักฐานที่ชัดเจนอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร และจะเอาผิดกับผู้ที่กระทำผิดให้ถึงที่สุด โดยได้ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาแล้ว

“ม.รังสิต ไม่สนับสนุนการทุจริตในทุกรูปแบบ ขอให้นักเรียน ผู้ปกครองทุกคนมั่นใจได้ว่าในการสอบครั้งต่อไปจะดำเนินการให้รัดกุมที่สุด และไม่เกิดการทุจริตแน่นอน ส่วนผู้ปกครองที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริตครั้งนี้ต้องมาเดือดร้อนกับเรื่องที่เกิดขึ้น ผมเสียใจและได้จัดให้สอบอีกครั้งโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ อีก” ดร.อาทิตย์กล่าว

นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงกรณีทุจริตการสอบครั้งดังกล่าวของ ม.รังสิตว่า ในส่วนของ ทปอ.มีมาตรการเกี่ยวกับการทุจริตอย่างชัดเจน ซึ่งได้ระบุลงในหนังสือระเบียบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปี 2559 ในส่วนของคุณสมบัติทั่วไปของผู้สมัคร ข้อ 1.6 ว่า ผู้ที่จะสมัครเข้าคัดเลือกบุคคลศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาระบบกลาง หรือแอดมิชชั่น จะต้องเป็นผู้ที่ ไม่ถูกลงโทษเนื่องจากกระทำผิดหรือร่วมกระทำทุจริตการสอบเพื่อเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และยังมีข้อปฏิบัติในส่วนของผู้คุมสอบที่ต้องผ่านการอบรมเกี่ยวกับการตรวจร่างกายก่อนเข้าสอบ ตรวจพฤติกรรมในห้องสอบ ระมัดระวังขณะสอบ และไม่อนุญาตให้นำสมาร์ทโฟนเข้าสอบเป็นอันขาด อย่างไรก็ตาม การทุจริตครั้งนี้มาในรูปแบบของการส่งข้อมูลผ่านนาฬิกาข้อมืออิเล็กทรอนิกส์ ตนก็จะพยายามสื่อสารไปยังศูนย์สอบต่างๆ ว่าจะต้องมีการเพิ่มมาตรการในการเฝ้าระวังในส่วนนี้ด้วย

“การทุจริตเป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่นอน โดยเฉพาะนักเรียนที่จะมาสอบเข้าเรียนต่อในคณะแพทย์ เพราะงานทางการแพทย์คือการดูแลชีวิตคน ดังนั้นผู้ที่จะเป็นแพทย์จะต้องมีคุณธรรม จริยธรรม อย่างมาก และโดยหลักการนักเรียนไม่ควรเลือกเรียนในวิชาที่เป็นไปตามกระแสของสังคม เพื่อน หรือพ่อแม่ต้องการให้เรียน ควรจะเลือกในสิ่งที่รักและชอบ เพราะมันจะเป็นสิ่งที่อยู่กับเราไปตลอดชีวิต ที่สำคัญควรเลือกเรียนในสาขาวิชาที่ตัวเองมีศักยภาพพอด้วย แม้จะบอกว่าเป็นสาขาที่ชอบ และใช้วิธีโกงเพื่อเข้าเรียนต่อ เมื่อเข้าไปเรียนรับรองว่านักเรียนจะต้องมีปัญหาแน่นอน อาจจะเรียนไม่จบ เพราะวิชาแพทย์ไม่ใช่วิชาที่เรียนได้ง่าย” ประธาน ทปอ.กล่าว และว่า จากนี้คาดว่าทางมหาวิทยาลัยรังสิตจะส่งรายชื่อผู้ที่กระทำทุจริตทั้ง 3 คนให้แก่ทาง ทปอ. และทาง ทปอ.ก็จะทำหน้าที่ประสานไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ

ด้านนายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาฯ กช.) กล่าวว่า เบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ดำเนินการตรวจสอบสถาบันติวดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด ดังนั้นจึงขอให้ทาง ม.รังสิต สถานีตำรวจ หรือผู้ปกครองของกลุ่มนักเรียนดังกล่าว หากทราบว่าเป็นสถาบันกวดวิชาใด ขอให้แจ้งมายัง สช.โดยตรง เพื่อจะดำเนินการตรวจสอบอย่างเร็วที่สุด ส่วนสถาบันกวดวิชาที่ได้รับการอนุญาตจาก สช.แล้ว มีการโฆษณาชวนเชื่อ เกินความเป็นจริง เช่น ติวแล้วสอบติดแน่ 100% เป็นต้น ถือว่าเป็นความผิด ไม่สามารถทำได้ จะมีโทษเป็นการตักเตือนและเปรียบเทียบปรับ นอกจากนี้ สช.จะมีการสุ่มตรวจสอบยังสถาบันกวดวิชาต่างๆ ว่ามีสถาบันใดไม่จัดตั้งตามกฎหมาย หรือทำผิดระเบียบการจัดตั้ง เช่น มีผู้เรียนเกิน 7 คน จะต้องมีการจัดทะเบียนขอจัดตั้ง กำหนดจำนวนราคาที่เรียกเก็บจากผู้เรียนให้ชัดเจน เป็นต้น

“สช.มีหนังสือย้ำเตือนแก่สถาบันกวดวิชาเกี่ยวกับข้อที่ดำเนินการแล้วเป็นเรื่องผิดอยู่ตลอด หากสถาบันใดที่กระทำผิดก็ถือว่าไปตามกฎหมายบ้านเมือง ผมเชื่อว่าหากไม่มีการสุ่มตรวจจะมีสถาบันกวดวิชาอย่างในกรณีดังกล่าวจำนวนมาก” เลขาฯ กช.กล่าว.