จากกรณีที่นายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม ได้จัดกิจกรรม “ก้าวคนและก้าว” โดยเป็นการวิ่งมาราธอน โดยจะเริ่มวิ่งจาก กรุงเทพ – บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นระยะทาง 400 ก.ม. เป็นระยะเวลา 10 วัน เพื่อระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาลบางสะพานในการซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ขาดแคลน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวก็สิ้นสุดลงแล้ว และมียอดเงินบริจาคทั้งสิ้นกว่า 70 ล้านบาท จนทำให้เกิดกระแสขึ้นบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับการจัดงบประมาณการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ไม่ตรงสเปก ให้กับโรงพยาบาลรัฐ

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวมีการพูดกันมาก แต่ในเรื่องการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์หรือเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ตรงสเปกนั้น ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะโรงพยาบาลแต่ละแห่งเป็นผู้จัดทำสเปกขึ้นมาเสนอเอง โดยหน่วยงานในภูมิภาคจะมีคณะกรรมการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ (Specification) ตามความต้องการผู้ใช้ ว่าที่ไหนมีความจำเป็น และหากเป็นรายการที่อยู่ในบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของสำนักงบประมาณก็จะเป็นไปตามข้อกำหนดเบื้องต้นของสำนักงบประมาณ

นพ.โสภณกล่าวว่า งบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์มีอยู่ 4 แนวทางคือ 1.งบประมาณประจำปีเป็นงบลงทุนจากสำนักงบประมาณ 2.งบค่าเสื่อมจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการจัดซื้อทดแทน 3.เงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นรายได้ของโรงพยาบาล หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ จากการรักษาทั้งกลุ่มสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม หรือแม้แต่บัตรทอง ก็สามารถนำมาใช้จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นได้ และ 4.เงินบริจาคจากประชาชนหรือผู้มีจิตศรัทธา

“ยืนยันว่าโรงพยาบาลสังกัด สธ.ไม่ได้ขาดแคลนเครื่องมือแพทย์อย่างที่เป็นข่าว และไม่ได้แย่ถึงขนาดไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์ เพราะรัฐบาลก็สนับสนุนงบประมาณอยู่ และเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นหรือเป็นมาตรฐานในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย ทุกโรงพยาบาลมีพร้อม เพียงแต่ปัจจุบันมีการขยายงานบริการเพิ่มมากขึ้น เรียกได้ว่าปริมาณงานมากขึ้น จำเป็นต้องใช้เครื่องมือแพทย์เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่าง ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และยังมีคนสูบบุหรี่อยู่มาก ทำให้เกิดความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่ใช้เฉพาะแต่ในห้องฉุกเฉินเท่านั้น แต่ต้องจัดหาเครื่องช่วยหายใจไว้ในตึกธรรมดาด้วย” นพ.โสภณกล่าว

ปลัด สธ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ต้องได้รับการจัดซื้อจัดหาให้ทันสมัยและเพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ ทันสมัย อาจส่งผลให้โรงพยาบาลต้องรอการจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อ โดยในปีงบประมาณ 2560 ได้จัดสรรงบลงทุนครุภัณฑ์การแพทย์ จำนวน 2,702,568,000 บาท

“การจัดกิจกรรมดังกล่าวของนักร้องดัง ผมขอชื่นชมและถือเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะพูดชัดเจนว่าถ้าหากไม่อยากมาโรงพยาบาลก็ควรหันมาออกกำลังกาย เป็นการปลุกกระแสคนรักสุขภาพ และยังเป็นการดำเนินงานตามแนวทางประชารัฐ เป็นการรวมน้ำใจของประชาชนที่จะร่วมทำบุญกับศิลปินที่ตนเองชื่นชม เพื่อมอบสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ผ่านทางโรงพยาบาลสังกัด สธ. ซึ่งสร้างจากภาษีของประชาชน เป็นตัวอย่างประชารัฐที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ที่ผ่านมาโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากผู้มีจิตกุศลและองค์กรต่างๆ เสมอมา ต้องขอขอบคุณทุกๆ ท่าน ทุกภาคส่วนของสังคม ที่ไม่ได้ปล่อยให้เป็นกลไกของรัฐฝ่ายเดียว” นพ.โสภณกล่าว