ดร.ริคาร์โด รามัลโญ ศาสตราจารย์จากภาควิชาธรณีศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ ได้ทำการศึกษาเรื่องราว ถึงเหตุการณ์เมื่อ 73,000 ปีก่อน และเมื่อปี 2007 ได้พบก้อนหินยักษ์ ที่มีน้ำหนักกว่า 700 ตันตั้งอยู่บริเวณหน้าผาสูงที่ตัดตรงเป็นแนวดิ่ง

จากการศึกษาพบว่า หินยักษ์ก้อนนี้เป็นหินเก่าแก่จากท้องทะเล แตกต่างจากหินก้อนอื่นที่อยู่บริเวณเดียวกันที่เป็นภูเขาไฟอายุน้อย จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่หินก้อนนี้จะมาอยู่ในบริเวณดังกล่าว เว้นแต่ว่า เหตุการณ์สึนามิเมื่อ 73,000 ปีก่อนนั้น จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง โดยเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น เชื่อกันว่า เกิดจากไหล่เขาของเกาะโฟโกในประเทศกาบูเวร์ดี ได้ถล่มลงสู่ทะเล จนแรงกระเพื่อมนั้นก่อตัวเป็นคลื่นยักษ์สึนามิขนาดใหญ่

แต่ก็มีนักวิชาการหลายคนต่างถกเถียงกันเป็นวงกว้างว่าสึนามิที่เกิดขึ้น มีขนาดใหญ่มากน้อยเพียงใด ตัวอย่างเช่น สถาบันธรณีศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับลักษณะการถล่มของภูเขาว่าค่อยๆถล่ม หรือถล่มครืนลงมาในครั้งเดียว โดยหากเกิดขึ้นแบบแรกนั้น ก็จะเกิดสึนามิขนาดเล็กหลายระลอก คลื่นสูงประมาณ 10-13 เมตร แต่หากเกิดขึ้นในลักษณะที่สอง ก็จะก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ที่เรียกว่า เมกะสึนามิ มวลน้ำที่มีพลังการทำลายล้างสูง สามารถเคลื่อนภูเขาทั้งลูก และทำให้ตึกระฟ้าพังทลายได้ในพริบตา

ทั้งนี้ ดร.รามัลโญ เชื่อว่า การพบก้อนหินดังกล่าวในชิลีนั้น เป็นบทพิสูจน์ว่าเมื่อ 73,000 ปีที่ผ่านมานั้น เคยเกิด “เมกะสึนามิ” ขึ้นจริงบนโลก เนื่องจากข้อมูลอายุของหินก้อนยักษ์นั้นแสดงให้เห็นถึงแหล่งที่มาที่แท้จริงว่า มาจากพื้นด้านล่างของหน้าผาซึ่งจมอยู่ใต้ทะเล แต่ถูกพลังมหาศาลแซะออกมาจากด้านล่างพร้อมแรงเหวี่ยงให้หินก้อนดังกล่าวหลุดขึ้นมาตั้งอยู่ด้านบนหน้าผาที่สูงขึ้นเกือบ 250 เมตร

ดร.รามัลโญ ได้เตือนด้วยว่า เหตุการณ์ดังกล่าววอาจเกิดขึ้นได้อีกซึ่งแม้แต่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสึนามิจะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อไหร่ สิ่งที่ต้องทำคือ การหาวิธีป้องกันให้เกิดการเสียหายให้ได้น้อยที่สุด

 

ภาพจาก Ricardo Ramalho

ความคิดเห็นจากสมาชิกเฟซบุ๊ก

comments