จากกรณีที่กำลังเป็นกระแสบนโลกออนไลน์ที่มีการพูดถึง รถดับเพลิงเล็ก คันใหม่ของกรุงเทพฯ คันละ 8 ล้านบาท จำนวน 20 คัน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากโดยส่วนมากจะบอกว่าราคานี้น่าจะสูงเกินความจริงไปหน่อย ทำให้อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแฉยับว่า รถดับเพลิงเล็ก คันนี้มีราคาสูงกว่าตลาดถึง 3 เท่าเนื่องจากบริษัทแม่ และ บริษัทลูก แข่งประมูลกันเอง แถมยังได้รถสเปคห่วยๆมาอีกด้วยและตอนนี้ก็ต้องส่งซ้อมอยู่อีกหลายคัน

นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงปัญหาการทุจริตของกรุงเทพมหานคร(กทม.) เกี่ยวกับโครงการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็กวงเงิน 160 ล้านบาท จำนวน 20 คัน ราคาคันละ 8ล้านบาท โดยเป็นตัวรถราคา 2.5 ล้านบาท นอกนั้นเป็นค่าอุปกรณ์ดับเพลิง จาการตรวจสอบพบว่ามีความผิดปกติ คือสเปคของรถและบริษัทที่ได้รับงาน โดยได้รับข้อมูลจากข้าราชการใน กทม.ว่า บริษัทที่ได้รับงานคือ บริษัท ทีเจ แอดวานซ์ เอ็นจิเนียริ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ริเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง โดยทั้ง 2 บริษัทนี้ได้ยื่นประมูลงาน ซึ่งตนกำลังตรวจสอบอยู่ว่า 2 บริษัทนี้เชื่อมโยงกันจริงหรือไม่ แต่เบื้องต้นมีข้อสังเกตว่าในส่วนของ บริษัท ทีเจฯ มีการเพิ่มวัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนในวันที่ 22 มิ.ย. 2554 เป็น 45 ข้อ โดยในข้อ 26 ระบุว่าซื้อและขายเครื่องดับเพลิง ข้อ 34 ประมูลซื้อและขายรถดับเพลิง ส่วนบริษัท ริเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง เริ่มก่อตั้งปี 2533 มีวัตถุประสงค์เป็น 100 ข้อ คือทำหมดเลยเหลือแค่ซื้อเครื่องบินอย่างเดียว ที่น่าสนใจคือ เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2556 มีการจดวัตถุประสงค์ข้อ 94 ขายอุปกรณ์ดับไฟ สอดรับกับการตั้งงบประมาณครั้งแรกเพื่อจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็กในปี 2556 เช่นกัน

“สตง.ทักท้วงเรื่องนี้ว่าการซื้อรถพวงมาลัยซ้ายน่าจะผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก กทม.จึงไม่กล้าเซ็นสัญญา และชะลอไป 60 วัน ก่อนจะชี้แจงว่าแม้จะเป็นพวงมาลัยซ้าย ก็ไม่ก่อให้เกิดอันตราย จึงมีการลงนามสัญญาในวันที่ 12 มี.ค.2558 และมีการแก้สัญญาให้เปลี่ยนสเปกรถ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2558 ทั้งที่ลงนามไปแล้ว ทำให้สงสัยว่าทำเพื่ออะไร ส่วนปัญหารถพวงมาลัยซ้าย โดยมีการนำรถเอทีวี มาต่อใส่กระจก ติดตั้งเครื่องดับเพลิง ถือเป็นรถค่อนข้างพิสดาร คือรถราคา 2.5 ล้านบาท แต่ไฟเลี้ยวติดอยู่ตรงหัวรถมีขนาดเล็กมาก และไม่มีแอร์ ส่วนไฟท้ายเป็นกล่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก และเวลาที่ขับก็ไม่สามารถมองกระจกหลังได้ นอกจากนี้ตัวถังเป็นไฟเบอร์ ไม่ใช่เหล็ก ประตูเป็นพลาสติก ขนาดของรถเท่ากับรถกะป๊อ ผมไปตรวจสอบมา 3 สถานีดับเพลิงแล้ว พบว่ามีบางหน่วยที่ได้รับรถใช้ ปรากฏว่าไฟฉุกเฉินเสีย ไฟเลี้ยวไม่ติด ส่วนบางหน่วยเมื่อเอาไปใช้แล้ว ถังดับเพลิงหาย แถมยังเสียต้องเอาไปซ่อม”นายวิลาศ กล่าว

นายวิลาศ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าชุดระบบดับเพลิงที่ติดตั้งในรถนั้นอุปกรณ์แต่ละอย่างมาจากประเทศที่ต่างกันประมาณ 10 ประเทศ โดยเมื่อตรวจสอบพบว่าอุปกรณ์แต่ละชนิดมีราคาที่สูงเกินจริง เช่น ถังดับเพลิงหิ้วชนิดน้ำ ราคาท้องตลาด 2,400 บาท แต่จัดซื้อในราคา 8,000 บาท ถือว่าแพงเป็นสามเท่า โดยในขณะนี้มีการส่งมอบรถไปให้กับสถานีดับเพลิง 20 แห่งจากทั้งหมด 35 แห่ง และทราบมาว่ามีการสั่งการที่จะจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 15 คันโดยใช้เงินจากงบประมาณปี 2560 จึงอยากให้ระงับเรื่องนี้ รวมถึงขอให้ม.รว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบเพื่อทบทวน ทั้งนี้ตนจะได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อยื่นต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ภายในสัปดาห์หน้า

 

ความคิดเห็นจากสมาชิกเฟซบุ๊ก

comments